เพิ่มเพื่อน

มารู้จักชนิดของขั้วไฟ เพื่อการใช้งานที่ถูกต้องกัน

 

 

มารู้จักชนิดของขั้วไฟ เพื่อการใช้งานที่ถูกต้องกันครับ

 

ขั้วไฟโดยหลักๆ แล้วจะมีที่ใช้กันโดยทั่วไปไม่กี่ประเภทเท่านั้น คือขั้วเกลียว E27 และขั้วแบบเสียบ MR16 ซึ่งใช้ในบ้านทั่วไป และหลอดไฟที่ใช้สำหรับงานพิเศษต่างๆ เช่น หลอดในเครื่องจักรกล หลอดเครื่องมือแพทย์ หลอดสำหรับฆ่าเชื้อ เป็นต้น แต่ในที่นี้เราจะมาแนะนำในส่วนของ ขั้วหลอดไฟ ที่เราใช้กันทั่วไป และพบเห็นได้บ่อยๆ กันครับ


ขั้วไฟแบบเกลียว

ขั้ว E14 : หรือที่เรียกกันว่า “ขั้วเล็ก” แต่ยังมีอีกขนาดคือ ขั้ว E12 ซึ่งพบไม่มากนัก โดยมากเป็นหลอดเฉพาะรุ่นเท่านั้น สำหรับขั้วหลอดไฟ E14 นั้นนิยมใช้กับหลอดรูปทรงจำปา หรือ ทรงกระบอกเล็ก โดยแต่เดิมหลอดทรงจำปานั้นจะเป็นแบบหลอดไส้ เวลาเปิดใช้งานไปสักพัก ตัวหลอดจะมีความร้อนสูงมาก ประมาณว่าหากเผลอไปจับเข้า อาจจะมือพองได้เลยครับ ข่าวดีก็คือ ปัจจุบันหลอดแอลอีดีได้พัฒนาจนมีหลอดสำหรับ ขั้ว E14 ได้แล้ว โดยมีรูปทรงเหมือนกับหลอดไส้เดิม เช่น ทรงจำปา หรือ ทรงเปลวเทียน ซึ่งเมื่อเปิดไฟแล้วหลอดจะไม่ร้อน ช่วยลดความร้อนลงไปได้เยอะเลยทีเดียว

ขั้ว E27 : เป็นขั้วหลอดไฟ ที่พบเห็นกันได้มากที่สุด เพราะนิยมใช้กับหลอดไฟแบบต่างๆ ได้หลากหลาย เริ่มแรกเดิมที ขั้ว E27 จะนำมาใช้กับหลอดไส้ทรงน้ำเต้า หรือ ทรงอินแคน ซึ่งย่อมาจาก Incandescent และ ทรงปิงปอง ต่อมาได้พัฒนามาใช้ในหลอดประหยัดไฟแบบแท่ง หรือ เรียกอีกอย่างนึงว่า หลอดตะเกียบ และในปัจจุบันนี้หลอดแอลอีดี ก็ได้ผลิตออกมาตอบสนองผู้ใช้อย่างครบถ้วน โดยทรงที่นิยม คือ ทรงน้ำเต้า หรือ LED BULB นั้นเอง

ขั้ว E40 : ขั้วหลอดไฟ E40 เป็นขั้วหลอดเกลียวเหมือนกันกับ ขั้ว E27 แต่มีขนาดใหญ่กว่า สำหรับขั้วหลอดไฟ E40 นั้น นิยมใช้กับหลอดที่มีกำลังวัตต์สูงๆ เพื่อรองรับขนาดของหลอดที่ใหญ่ขึ้น โดยทั่วไปจะใช้กับหลอด “High Watt” ที่มีกำลังวัตต์มากกว่า 40w ขึ้นไป ซึ่งเราจะพบเห็นได้มากใน โคมฟลัดไลท์ หรือ โคมสปอร์ตไลท์ หลอดเมทัลฮาไลด์ และ หลอดไฮเพรสเชอร์โซเดียม ทรงกระบอก ส่วนหลอดทรงโบว์ลิ่งจะใช้สำหรับโคมฝาชี หรือ เรียกกันว่า โคมไฮเบย์ หรือ โคมโลว์เบย์ ทั้งนี้หลอดดังกล่าวจะต้องใช้ควบคู่กับ บัลลาสต์ และ อิกไนเตอร์ ในการทำให้หลอดติด ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองอย่างมาก อีกทั้งหลอดยังมีความร้อนสูงมาก จนอู่ซ่อมสีรถนำมาใช้ในการอบสีให้แห้งเร็วขึ้น ปัจจุบันเทคโนโลยี LED ได้พัฒนามาเป็น โคมไฟสปอร์ตไลท์ LED (โคมฟลัดไลท์) ซึ่งมีคุณภาพเทียบเท่ากับโคมวัตต์สูงแบบเดิม ติดตั้งง่าย น้ำหนักเบา และไม่ต้องใช้อุปกรณ์ต่อพ่วงใดๆ เลย


ขั้วแบบเขี้ยว


ขั้ว G13 : ก็คือขั้วหลอดไฟนีออนนั้นเอง โดยจะนำมาใช้กับหลอดนีออน T8 (ฟลูออเรสเซนต์) ขนาดวัตต์ 18w (หลอดสั้น) และ 36w (หลอดยาว) ซึ่งหลอดนีออนเดิมนั้นต้องใช้ควบคู่กับ บัลลาสต์ และ สตาร์ทเตอร์ เพื่อทำให้หลอดติด หรือ ใช้กับ บัลลาสต์อิเล็คทรอนิกส์อย่างเดียวก็ได้เหมือนกัน และปัจจุบันหลอดแอลอีดีได้มีการผลิตขึ้นเพื่อใช้แทนหลอดนีออนเดิมแล้ว โดยมีชื่อเรียกว่าหลอด LED TUBE ซึ่งช่วยให้ประหยัดไฟลงได้มากเลยทีเดียว ติดตั้งก็ง่าย ไม่ต้องใช้ บัลลาสต์ และ สตาร์ทเตอร์ ให้ความสว่างมากกว่า และความร้อนต่ำกว่าอีกด้วย

ขั้ว GU10 : หรือเรียกอีกชื่อนึงว่า ขั้วขาสตาร์ทเตอร์ ลักษณะจะเหมือนกับขั้วสตาร์ทเตอร์ คือ มีขาบิดล็อคได้ ซึ่งขั้ว GU10 เรามักจะพบเห็นในหลอดฮาโลเจนแบบถ้วย MR16 ซึ่งหลอดดังกล่าวนิยมนำมาใช้กับโคมไฟติดราง ซึ่งต้องติดตั้งในลักษณะส่องลง ทำให้มีโอกาสที่หลอดจะหลุดออกจากตัวโคมได้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องใช้ขั้ว GU10 กับหลอดไฟบางประเภทนั้นเองครับ ปัจจุบันหลอดแอลอีดีก็ได้มีการผลิตมาในขั้วหลอด GU10 นี้ด้วยเหมือนกัน เพื่อตอบสนองผู้ใช้ที่ยังมีโคมไฟขั้ว GU10 อยู่ด้วย

ขั้ว GU5.3 : สำหรับขั้ว GU5.3 นั้น นิยมนำมาใช้กับหลอดฮาโลเจนแบบถ้วย และ ฮาโลเจนแบบแคปซูล ซึ่งลักษณะขั้วจะเป็นเหล็กแหลมสั้นๆ 2 แท่งที่ตัวขั้วหลอด โดยตัวเลข 5.3 คือ ระยะห่างของแท่งเหล็กทั้ง 2 แท่ง นั้งเองครับ (หน่วยเป็นมิลลิเมตร) และยังมีขั้ว GU4 ซึ่งระยะห่างระหว่างแท่งเหล็กจะแคบกว่าขั้ว GU5.3 เล็กน้อยครับ

จากข้างต้นจะเป็นขั้วหลอดไฟ ที่พบเห็นกันได้บ่อยๆ และมีใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน นอกเหนือจากนี้จะเป็นขั้วสำหรับหลอดประเภทต่างๆ ซึ่งเราไม่ค่อยได้ใช้กันสักเท่าไรครับ ดังนั้นจึงขอนำเสนอชนิดของ ขั้วหลอดไฟ ไว้เพียงเท่านี้ก่อนครับ

 

 

 

 

Visitors: 2,259,310
เพิ่มเพื่อน